เด็กวัยอนุบาล
(3-6 ขวบ) เป็นวัยที่มีลักษณะเฉพาะของพัฒนาการทางสติปัญญา
คือ เป็นวัยที่สามารถใช้สัญลักษณ์แทนสิ่ง ของ วัตถุ และสถานที่ได้
เริ่มมีทักษะในการใช้ภาษาที่จะอธิบายสิ่งต่างๆ มีความคิดคำนึง
มีความตั้งใจทีละเรื่อง และยังไม่สามารถจะพิจารณาหลายๆเรื่องรวมกันได้
นอกจากนี้เด็กวัยนี้ยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับความคงตัวของสสาร พัฒนาการทางด้านสติปัญญา
เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความคิดและความเข้าใจของเด็ก
เป็นสิ่งที่สามารถพัฒนาให้ประสบความสำเร็จในอนาคตได้
ด้วยการที่พ่อแม่ไม่ปิดกั้นหนทางในการสร้างสรรค์ของเด็ก
แต่ครอบครัวหรือผู้ใหญ่รอบตัวจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะสร้างแรงจูงใจให้เด็กมีความใฝ่รู้
ได้แสดงความสามารถ กล้าแสดงความคิดเห็น โดยปลูกฝังให้เด็กเป็นคนรู้จักคิด
ฝึกให้สังเกตสิ่งรอบตัว ให้ความสนใจในสิ่งที่เด็กทำ
ให้เด็กได้มีโอกาสเรียนรู้จากการลองผิดลองถูกในเรื่องต่างๆ
ให้เด็กได้ฝึกคิดแก้ปัญหาต่างๆด้วยตัวเอง ทั้งนี้โดยอยู่บนพื้นฐานของการใช้เหตุผลและความถูกต้องเหมาะสม
พัฒนาการด้านสติปัญญา
แบ่งออกเป็น 6 ส่วน ดังนี้
- การคิด หมายถึง การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้วยการมอง ฟัง สัมผัส ชิมรส และดมกลิ่น การคิดเชื่อมโยงความสัม พันธ์สิ่งของต่างๆ การคิดสร้างสรรค์ และการคิดแก้ปัญหา
- การใช้ภาษาในการสื่อสาร ด้วยการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน
- การสังเกต การจำแนก และการเปรียบเทียบ ได้แก่ การจำแนกเปรียบเทียบความเหมือน-ความต่าง การจัดหมวดหมู่สิ่ง ของ และการเรียงลำดับสิ่งต่างๆ
- จำนวน ทั้งการนับจำนวนและการรู้ค่าของจำนวน
- มิติสัมพันธ์ คือ การเข้าใจและการอธิบายในเรื่องพื้นที่ ตำแหน่ง ระยะทาง ทิศทาง
- เวลา ใช้ในการเปรียบเทียบเวลาต่างๆ เรียงลำดับเหตุการณ์ และความเข้าใจเกี่ยวกับฤดูกาล
เด็กที่มีพัฒนาการด้านสติปัญญาเป็นอย่างดี
หรือที่เรามักเรียกว่า เด็กฉลาด จะเป็นเด็กช่างสังเกต เรียนรู้เร็ว ชอบตั้งคำถาม
ใช้คำศัพท์ได้มากและถูกต้อง มีความคิดเป็นของตัวเอง มีความจำดี ชอบอ่านหนังสือ
ชอบเป็นผู้นำ ชอบแสดงความคิดเห็น ชอบวาดภาพตามความคิดของตัวเอง
มีความอยากรู้อยากเห็น ชอบสำรวจ ชอบทดลองสิ่งต่างๆ ชอบคิดแก้ปัญหา มีจินตนา การ
และชอบสร้างสรรค์สิ่งต่างๆอย่างเป็นอิสระ
ดังนั้น
หากผู้ใหญ่รอบตัวให้ความสนใจพัฒนาลูกน้อยให้เติบโตเต็มศักยภาพ
จะส่งผลให้ลูกมีศรัทธาต่อตัวเอง มีความเชื่อ มั่นในตัวเอง
เห็นว่าตัวเองมีความสามารถ ทำสิ่งต่างๆได้สำเร็จ มีท่าทีต่อปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม
มีความสนใจที่จะเรียนรู้และหาวิธีแก้ปัญหา ไม่โวยวายหรือโทษผู้อื่น
สามารถรับรู้สิ่งต่างๆได้ตามความเป็นจริง เรียนรู้จากการลองผิดลองถูก ลองคิด ลองทำ
โดยไม่สนใจกับคำพูดของผู้อื่นหรือความวิตกกังวลต่างๆของตัวเอง
นอกจากนี้หากลูกได้มีการทบทวนพิจารณาสิ่งที่ได้ทำไป
ด้วยการตรวจสอบการคิดแก้ปัญหาของตนเองอย่างเป็นขั้นตอน เมื่อพบข้อผิดพลาด
ก็จะหาทางแก้ไข หรือพิจารณาปรับปรุงแก้ปัญหาให้ดีขึ้น
ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ทำให้ลูกพัฒนาต่อไปได้ดี
อ้างอิง : taamkru.com/th/พัฒนาการด้านสติปัญญาวัยอนุบาล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น